วัดหนองปลาขอ ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

บ้านหนองปลาขอ ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ ๕ ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีเนื้อที่ประมาณ ๔๘๐ ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ๓๕๐ ไร่ ที่อยู่อาศัย ๑๓๐ ไร่ ประชากร ร้อยละ ๗๐ มีอาชีพเกษตรกรรม ประชากรทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติวัดหนองปลาขอ

ประวัติ  วัดหนองปลาขอ
วัดหนองปลาขอ  ตั้งอยู่  เลขที่  ๘๙ บ้านหนองปลาขอ  หมู่ที่    ตำบลป่าสัก  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่    ไร่     งาน  ๘๔๘  ตารางวา  (ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่เศษ)
วัดหนองปลาขอ สร้างเมื่อ  พ.ศ. ๒๓๘๙  โดยมีพระอธิการอินทะ  อินทปญฺโญ  เป็นประธานก่อสร้างฝ่ายสงฆ์   สร้างขึ้นจากวัดร้างเดิมที่มีอยู่  เดิมชื่อว่า  วัดป่าขอ  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อวันที่  ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๘   เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๒๐  เมตร  ยาว  ๔๐  เมตร

เจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามมีดังนี้
๑.      พระอธิการอินทะ  อินทปญฺโญ  ๒๓๘๙ – ๒๔๕๐
๒.    พระอธิการคำมูล   ๒๔๕๐ – ๒๔๗๔
๓.     พระอธิการคำอ้าย  พทฺธญาโณ   ๒๔๗๗ – ๒๔๙๓
๔.     พระอธิการยอด  ญาณจารี   ๒๔๙๔ – ๒๕๑๓
๕.     พระครูวุฒิวรคุณ  (ต่วน  อริยวํโส)  ๒๕๑๓ – ๒๕๔๕
๖.      พระมาศรันยวรรธน์  ปุญญศิริ  (รก.)             ๒๕๔๕ – ๒๕๔๖
        ๗.   พระอธิการฮิม  พฺรหฺมวํโส  ๒๕๔๘ – ปัจจุบัน (รก. ๒๕๔๖ –ม.ค.๒๕๔๘)   

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติบ้านหนองปลาขอ

บ้านหนองปลาขอ ตามประวัติก่อตั้งเมื่อ พุทธศักราช ๒๓๘๐  ตั้งชื่อตามหนองน้ำประจำหมู่บ้าน โดยเริ่มแรกมีผู้เข้ามาอาศัย มีเพียงครอบครัวเดียว โดยเป็นการมาสร้างห้างนา(เขียงนา) ไว้ในการประกอบอาชีพ เกษตร ครอบครัวดังกล่าว เดินทางมาจาก บ้านเวียงยอง ( ห่างจากบ้านหนองปลาขอ ไปทางเหนือ ประมาณ ๓ กิโลเมตร)  โดยทราบชื่อครอบครัวดังกล่าวคือ พ่อก้อน  แม่นาง[1]  ทั้งสองได้เข้ามาตั้งรกรากโดยการเพี้ยวถางและจับจองพื้นที่ในการทำนาและปลูกผัก และได้เริ่มมีคนรู้จักได้เริ่มเข้าอาศัย จาก หนึ่งครอบครัว มาเป็นสองครอบครัว อีกทั้งในอดีตในหมู่บ้านเริ่มแรกมี เพียง ๓ ครอบครัว มีครอบครัวหนึ่งมีลักษณะเป็น เฮือนหลวง (เรือนหลวง) ของพ่ออุ้ยจ๊ะ  แม่อุ้ยจา   และ เริ่มขยายมากขึ้น เดิมที หมู่บ้านหนองปลาขอ มีครัวเรือนไม่มาก ประมาณ ๒๐ – ๓๐ หลังคาเรือน  จนกระทั่งปัจจุบันมีการขยายด้านสังคมและมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลายประการจึงทำให้มีประชากรที่เพิ่มขึ้น
                บ้านหนองปลาขอ มีที่มาจากชื่อหนองน้ำประจำหมู่บ้าน โดยมีตำนานเล่าความเป็นมา สรุปได้ ๓ นัย ดังนี้
๑.      มาจากคำว่า ขอ ฝน  หนองน้ำประจำหมู่บ้านเมื่อครั้งอดีต มี จำนวนสองบ่อ ซึ่งอยู่ติดกัน มีลักษณะตื้นเขิน ไม่ได้ลึกเหมือนเช่นปัจจุบัน  ซึ่งผู้คนในหมู่บ้านต่างพากันใช้สอย ทั้งอาบ  ดื่ม และทำกิจกรรมอื่นๆ เดิมทีหมู่บ้านแห่งนี้มีความแห้งแล้งมาก  เวลา ช่วงหน้าร้อน ฝนไม่ตก น้ำในหนองก็เหือดแห้งไป จึงสร้างความเดือดร้อนเป็นอันมากแก่ชาวบ้าน  เมื่อถึงช่วงใกล้ฤดูทำนา ชาวบ้านก็กลัวว่าจะไม่มีน้ำทำนา  จึงได้ตั้งธรรมมาสน์ไว้ระหว่าง หนองน้ำ ทั้งสองบ่อ แล้วได้อาราธนาพระสงฆ์ มาเป็นองค์เทศนาธรรมอานิสงส์ปลาช่อน  เทศน์ไปไม่ถึงครึ่งคัมภีร์ ฝนก็ตกลงมา  จึงเป็นที่มาของคำว่า หนองปลาขอ ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องของการ ขอฝน  นั่นเอง
๒.    มาจากคำว่า ป่าขอ  ในอดีต บริเวณ บ่อน้ำทั้งสองบ่อมีลักษณะเป็นป่ารกร้าง  และขยายอาณาบริเวณไปทั่วรอบบ่อน้ำทั้งสอง  ซึ่งเป็นป่า มะตันขอ หรือ (หนามเล็บเหยี่ยว,หมากหนาม,พุทราขอ,ยับยิ้ว,เล็กเหยี่ยว)[2] ชาวบ้านจึงเรียกว่าเป็น  หนองป่ามะตันขอ และกลายมาเป็น หนองป่าขอ  จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ด้วยตามหลักทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงของภาษา ที่ว่าภาษาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทั้ง เรื่องของเวลา และการเปลี่ยนแปลงของสังคม หนองป่าขอ จึงเพี้ยนมาเป็น หนองปลาขอ ในปัจจุบัน (นัยนี้ สอดคล้องกับชื่อเดิมของวัด ที่ชื่อว่า วัดป่าขอ)
๓.     มาจากคำบอกเล่าของคนผู้เห็นปลาวิเศษที่เนรมิตเพศให้เห็น เป็นปลาลักษณะที่แปลกกว่าปลาอื่น  ตัวใหญ่  มีปากจะงอยที่สวยงามมีลักษณะเหมือนขอ ที่มักจะขึ้นมาเล่นน้ำที่หนองน้ำในเวลาเย็นๆพลบค่ำ ทั้งในวันที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และ วันสำคัญอื่นๆ  จึงมีคนเรียกหนองแห่งนั้นว่าเป็น หนองปลาขอ (นัยนี้  ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แต่ก็ได้มีเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา และ ปรากฏให้เห็นในการปั้นรูปปลาขอเป็น คันทวย ของศาลาการเปรียญ และ แกะสลักติดกับหน้าต่างของ หอพระไตรปิฎก ของวัดหนองปลาขอ)
หนองน้ำดังกล่าว ถือว่ามีความสำคัญต่อผู้คนในหมู่บ้านมาก ในอดีตหนองน้ำ มี ๒ บ่อบ่อหนึ่งเป็นบ่อเดิมที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว เป็นบ่อที่มีขนาดกว้างพอสมควร อีกบ่อหนึ่งเป็นบ่อที่ช่วยกันขุดขึ้นในสมัยหลัง และมีลักษณะตื้นเขิน จากคำบอกเล่ามีน้ำอยู่ในระดับเข่า – เอว  ชาวบ้านก็ได้ช่วยกันขุดบ่อพักน้ำไว้หลายแห่ง ในบริเวณรอบหนองใหญ่ทั้งสอง เพื่อในการใช้สอยทุกอย่าง ทั้งการอุปโภค และบริโภค ถึงช่วงฤดูที่น้ำแห้งมากก็เปิดโอกาสให้กับชาวบ้านได้ไปจับจองวัดขนาดบ่อภายในหนองทั้งสอง เพื่อใช้ในการดักจับปลา ในการหาปลาไว้บริโภคกัน ซึ่งในอดีตชาวบ้านจะไม่มีการขโมย หรือการแย่งเนื้อที่ของคนอื่น แต่จะรับผิดชอบของแต่ละคนไปและช่วยสอดส่องดูแลให้แก่กันด้วย และในเวลาต่อมาได้จ้างผู้คนในหมู่บ้านให้ช่วยกันขุดบ่อให้มีขนาดกว้าง ๑ เมตร ลึก ๑ เมตร (บ่อละ ๒๐บาท) เพื่อให้บ่อมีขนาดลึกและกว้าง ซึ่งเวลาต่อมา ประมาณช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๖ –  พ.ศ.๒๕๓๑ ด้วยความต้องการน้ำไว้ใช้ของคนในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้วยความหนาแน่นของประชากร และการพัฒนา โรงงานอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม จึงได้มีการให้นายทุนได้เข้ามาขุดสระให้มีขนาดที่กว้างและลึกขึ้นกว่าเดิม หนองทั้งสองบ่อ จึงกลายมาเป็นหนองน้ำใหญ่ประจำหมู่บ้าน โดยมีเนื้อที่ของหนองน้ำประมาณ  ๗ ไร่เศษ และสร้างประโยชน์ต่อคนในหมู่บ้านเป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนของการทำนา และ อื่นๆ ในส่วนของบ่อน้ำที่ชาวบ้านช่วยกันขุดไว้บริเวณรอบหนองน้ำ บางบ่อก็ได้กลายเป็นหนองใหญ่ มีเหลือให้เห็นในปัจจุบันเพียง ๓ บ่อ เท่านั้น ซึ่งหนองน้ำดังกล่าว นอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของหมู่บ้านแล้ว  ยังเป็นการสร้างความหวงแหนให้เกิดขึ้นในชุมชนอีกด้วย


[1] ข้อมูลอ้างอิง  จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าในหมู่บ้าน (แม่บัวถา  แสนเจริญ) , (แม่ศรีภรณ์  คำธิตา) , (พ่อบุญยืน  เลสัก)
[2] http://www.saluang.cmru.ac.th/editweb/page.php?spid=39&tid=2&type=3&start=0 (ชื่อเรียกผลไม้ มะตันขอ)

http://www.pahsak.com/ เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลป่าสัก  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน